1. ใบรับรองแพทย์ คืออะไร
ใบรับรองแพทย์ (Medical Certificate) คือ เอกสารสำคัญที่ใช้รับรองสุขภาพ ความผิดปกติของร่างกาย และอื่นๆ โดยมาจากคำสองคำ คือ (1) ใบรับรอง หมายถึง เอกสารสำคัญแสดงการรับรอง และ (2) แพทย์ หมายถึง ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับอนุญาตจากแพทยสภา โดยมีหลักการออกใบรับรองแพทย์ คือ ออกตามความเป็นจริงที่ตรวจพบ ความเห็นตามหลักวิชาการ และไม่ออกใบรับรองแพทย์หากไม่เจอผู้ป่วยจริง
2. องค์ประกอบของใบรับรองแพทย์
โดยทั่วไปใบรับรองแพทย์ ประกอบด้วย สถานที่ วัน เดือน ปี ที่ทำการตรวจ/ที่ออกใบรับรองแพทย์ แพทย์ผู้ตรวจ เลข ว. ลายมือชื่อของแพทย์ เลขประจำตัวประชาชนและลายมือชื่อ รวมถึงผลการตรวจร่างกายผู้รับการตรวจ รายการตรวจ และสรุปความเห็นแพทย์ เป็นต้น
3. ประเภทของใบรับรองแพทย์
3.1 ขอใบรับรองแพทย์เพื่อทำ/ต่ออายุใบขับขี่
การดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถทุกประเภท ทั้งทำใหม่และต่ออายุต้องใช้ใบรับรองแพทย์ประกอบ ใบรับรองแพทย์ที่จะนำมาใช้ประกอบการดำเนินการด้านใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ทั้งการขอใหม่กรณีไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถ หรือใบอนุญาตผู้ประจำรถมาก่อน การเปลี่ยนชนิด การต่ออายุ และการเปลี่ยนประเภท ต้องแสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นไม่มีโรคประจำตัวหรือสภาวะของโรคที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เห็นว่า อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ
แบบฟอร์มใบรับรองแพทย์เพื่อทำ/ต่ออายุใบขับขี่ (PDF)
3.2 ใบรับรองแพทย์ 5 โรค
ใบรับรองแพทย์ 5 โรค หรือใบรับรองแพทย์เพื่อการสมัครงาน/การเรียน มักใช้ประกอบการเข้าทำงานหรือเข้าเรียน โดยต้องได้รับการตรวจร่างกายและรับรองโดยแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับอนุญาตจากแพทยสภาว่าไม่เป็นโรค 5 โรค คือ (1) วัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ (2) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม (3) โรคติดยาเสพติดให้โทษ (4) โรคพิษสุราเรื้อรัง (5) โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้ออรังทีปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่
3.3 ใบรับแพทย์กรณีลาป่วย
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 32 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ซึ่งการลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้นายจ้าง “อาจ” ให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือของสถานพยาบาลของทางราชการ ซึ่งกฎหมายมิได้มีบทบังคับว่าลูกจ้าง “ต้อง” แสดงใบรับรองแพทย์ทุกครั้งที่ลาป่วยเสมอไป เนื่องจากลูกจ้างบางรายอาจไม่ได้รักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล แต่อาจรักษาพยาบาลที่สถานีอนามัย หรือซื้อยามารับประทานเองก็ได้ จึงไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างสามารถชี้แจงให้นายจ้างทราบถึงการลาป่วยดังกล่าวได้ สำหรับกรณีที่บางบริษัทมีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้สิทธิลาป่วยต่างกัน เช่น ลาป่วย 1 หรือ 2 วัน ต้องใช้ใบรับรองแพทย์มาประกอบการลานั้น ประเด็นนี้ถือว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ได้ ส่วนสิทธิการรับค่าจ้างขณะลาป่วยนั้น มาตรา 57 วรรคแรก กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ในวันลาป่วยเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างในระหว่างวันลาป่วย 30 วันทำงานในรอบ 1 ปี
4. ใบรับรองแพทย์ขอได้จากที่ไหน
สามารถขอใบรับรองแพทย์ได้จากสถานพยาบาล ซึ่งมีแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับอนุญาตจากแพทยสภา ทั้งนี้ ต้องตรวจสอบข้อกำหนดของหน่วยงานแต่ละแห่งว่ากำหนดรับผลตรวจเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐหรือไม่ ซึ่งควรอ่านข้อกำหนดและสอบถามถึงความชัดเจน
4.1 การขอใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐ
โดยทั่วไปจะออกใบรับรองแพทย์ให้ในวันและเวลาราชการ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของโรงพยาบาล ซึ่งบางแห่งให้บริการออกใบรับรองแพทย์นอกเวลาราชการด้วย โดยต้องทำบัตร และแจ้งเจ้าหน้าที่ว่ามาตรวจเพื่อขอใบรับรองแพทย์ ซึ่งจะมีการตรวจรายการต่างๆ และเข้าพบแพทย์
4.2 การขอใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชน
สามารถออกใบรับรองแพทย์นอกเวลาราชการได้ ทำให้มีความสะดวกสำหรับผู้ที่ทำงานประจำ แต่มีค่าบริการการตรวจที่สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ
4.3 การขอใบรับรองแพทย์จากคลินิก
มีความสะดวกต่อผู้รับบริการ สามารถออกใบรับรองแพทย์ได้ตามเวลาทำการของคลินิก และค่าบริการอยู่ในระดับกลาง
4.4 การขอใบรับรองแพทย์ออนไลน์ (ดิจิทัล)
ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล คือ ใบรับรองแพทย์ที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ มีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) กำกับ แทนการลงลายมือชื่อด้วยปากกา และสามารถสแกน QR Code บนใบรับรองฯ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงข้อมูลหลังลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ สามารถใช้ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ตามกฎหมาย
ประชาชนสามารถขอใบรับรองแพทย์ดิจิทัลกับหน่วยบริการที่เข้าร่วมระบบหมอพร้อม โดยตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการได้ที่ https://mohpromt.moph.go.th/mpc/mophcertificate/ เมื่อหน่วยบริการออกใบรับรองฯ ให้แล้ว สามารถรับใบรับรองแพทย์ดิจิทัลผ่านหมอพร้อม ได้ทั้ง LINE Official Account และ Application สามารถดาวน์โหลดไฟล์ PDF หรือพิมพ์ (print) ใบรับรองแพทย์ดิจิทัลได้ โดยการใช้งานผ่าน “หมอพร้อม” LINE Official Account (iOS และ Android) และ Application (Android เท่านั้น)
ค่าบริการในการตรวจหรือให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเพื่อออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล เป็นไปตามนโยบายหรือข้อกำหนดของแต่ละหน่วยบริการ ประชาชนโปรดตรวจสอบรายละเอียดค่าบริการก่อนเข้ารับบริการทุกครั้ง
ใบรับรองแพทย์ดิจิทัลบนหมอพร้อมเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ตามกฎหมาย อาทิ ใช้ประกอบการสมัครงาน ลาป่วย หรือการดำเนินการต่าง ๆ ในหน่วยงานที่รองรับการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ ไม่ใช่การขอผ่านระบบออนไลน์แล้วจะได้รับใบรับรองแพทย์ดิจิทัลเลย โดยต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมซึ่งมีประมาณ 1,033 แห่ง และจะได้รับใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ซึ่งสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพื่อป้องกันการปลอมแปลงได้
หมายเหตุ สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมระบบออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลผ่านหมอพร้อม ประชาชนสามารถขอรับใบรับรองแพทย์ในรูปแบบกระดาษได้ด้วยเช่นกัน โดยแจ้งกับหน่วยบริการโดยตรง และค่าธรรมเนียมในการขอเป็นไปตามนโยบายหรือข้อกำหนดของแต่ละหน่วยบริการ
5. คำถามที่พบบ่อย
5.1 ลาป่วยกี่วันต้องมีใบรับรองแพทย์
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ส่วนสิทธิการรับค่าจ้างขณะลาป่วยนั้นกำหนดให้ 1 ปีมีสิทธิได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน หากลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ หากลูกจ้างไม่อาจแสดงได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ
5.2 ใบรับรองแพทย์มีอายุกี่วัน
โดยทั่วไปแล้วใบรับรองแพทย์มีอายุ 1 เดือน หรือ 30 วัน หากหมดอายุแล้ว ต้องไปขอใบรับรองแพทย์ใหม่
5.3 อนามัยออกใบรับรองแพทย์ได้หรือไม่
ใบรับรองแพทย์ต้องได้รับการตรวจและออกใบรับรองโดยแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับอนุญาตจากแพทยสภา โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล หมายถึง สถานบริการสาธารณสุขซึ่งได้รับการยกระดับมาจากสถานีอนามัยตําบล มีผู้อํานวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบลเป็นผู้บริหาร บุคลากร ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข ทันตาภิบาล เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน และบุคลากรสายสนับสนุนอื่นๆ อาทิ เจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทย พนักงานบันทึกข้อมูล เป็นต้น จึงไม่สามารถออกใบรับรองแพทย์ได้
5.4 ใบรับรองแพทย์ราคาเท่าไหร่
ราคาใบรับรองแพทย์เริ่มต้นที่ 50 บาท ไปจนถึงหลักพัน ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลที่ตรวจและรายการตรวจ
5.5 ขอใบรับรองแพทย์ย้อนหลังได้หรือไม่
ผู้ขอใบรับรองแพทย์ที่เข้ารับการตรวจรักษากับสถานพยาบาลนั้น สามารถติดต่อสถานพยาบาลที่เข้ารับการตรวจรักษาโดยตรงเพื่อขอใบรับรองแพทย์ย้อนหลัง เช่น รับรองว่าป่วยจริง รับรองว่าได้เข้ารับการตรวจรักษาจริง เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้ขอใบรับรองแพทย์ไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษาจริง ไม่สามารถขอใบรับรองแพทย์ย้อนหลังได้
6. แหล่งข้อมูล